วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เครื่องดนตรีไทย


โหวต

โหวต เป็นเครื่องดนตรีไทยภาคอีสานประเภทเครื่องเป่า มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ทำจากไม้กู่แคนซึ่งเป็นไม้ซางชนิดเดียวกับที่ใช้ทำแคน มีลักษณะคล้ายกับเครื่องดนตรีกรีกโบราณ ที่เรียกว่า "Pan Pipe"
โหวดเป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
ผู้คิดค้นพัฒนาให้โหวดมีลักษณะแบบที่เห็นในปัจจุบันคือ นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ อาจารย์ประจำ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


ขลุ่ยเพียงออ

ขลุ่ยเพียงออ เป็นเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องเป่าชนิดไม่มีลิ้น ทำจากไม้รวกปล้องยาวๆ ด้านหน้าเจาะรูเรียงกัน สำหรับปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่เป่าไม่มีลิ้นแต่มีดาก ซึ่งทำด้วยไม้อุดเหลาเป็นท่อนกลมๆยาวประมาณ ๒ นิ้ว สอดลงไปอุดที่ปากของขลุ่ย แล้วบากด้านหนึ่งของดากเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เราเรียกว่า ปากนกแก้ว เพื่อให้ลมส่วนหนึ่งผ่านเข้าออกทำให้เกิดเสียงขลุ่ยลมอีกส่วนจะวิ่งเข้าไปปลายขลุ่ยประกอบกับนิ้วที่ปิดเปิดบังคับเสียงเกิดเป็นเสียงสูงต่ำตามต้องการใตปากนกแก้วลงมาเจาะ ๑ รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ เวลาเป่าต้องใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ บางเลาด้านขวาเจาะเป็นรูเยื่อ ปลายเลาขลุ่ยมีรู ๔ รู เจาะตรงกันข้ามแต่เหลื่อมกันเล็กน้อย ใช้สำหรับร้อยเชือกแขวนเก็บหรือคล้องมือจึงเรียกว่า รูร้อยเชือก รวมขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน
  รูปร่างของขลุ่ยเมือพิจารณาแล้วจะเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง จากหลักฐานที่พบขลุ่ยในหีบศพภรรยาเจ้าเมืองไทยที่ริมฝั่งแม่น้ำฮวงเหอ ซึ่งมีหลักฐานจารึกศักราชไว้ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ปัจจุบันขลุ่ยมีราคาสูง เนื่องจากไม้รวกชนิดที่ทำขลุ่ยมีน้อยลงและใช้เวลาทำมากจึงใช้วัตถุอื่นมาเจาะรูซึ่งรวดเร็วกว่า เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้ชิงชัน ไม้พยุง บางครั้งอาจทำจากท่อพลาสติกแต่คุณภาพเสียงไม่ดีเท่าขลุ่ยไม้ ขลุ่ยที่มีเสียงไพเราะมากส่วนใหญ่จะเป็นขลุ่ยผิวไม้แห้งสนิท
   ขลุ่ยใช้เป่าในวงเครื่องสายไทย วงมโหรี และในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ การเทียบเสียงขลุ่ยเพียงออกับระดับเสียงดนตรีสากล เสียงโดของขลุ่ยเพียงออ เทียบได้เท่ากับ เสียง ทีแฟล็ต ในระดับเสียงทางสากล ปัจจุบันได้มีการทำขลุ่ยเพียงออที่มีระดับเสียงเท่ากับระดับเสียงสากล เรียกว่าขลุ่ยเพียงออ ออร์แกนบ้าง หรือขลุ่ยกรวดบ้าง แต่ในทางดนตรีสากลจะเรียกเป็นขลุ่ยไทยหมด จะเอาระดับเสียงมาเป็นตัวแยกขนาดเช่น ขลุ่ยคีย์ C, ขลุ่ยคีย์ D, ขลุ่ยคีย์Bb, ขลุ่ยคีย์ G เป็นต้น


ขลุ่ยอู้

ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาขลุ่ยทั้งหลาย และเป็นขลุ่ยที่มีเสียงต่ำที่สุดคือต่ำกว่าเสียงโดต่ำของขลุ่ยเพียงออ 2-3 เสียง ขลุ่ยอู้ทำมาจากไม้รวกปล้องใหญ่ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร กว้าง 4 เซนติเมตร
 

ขลุ่ยหลิบ

ขลุ่ยหลิบ จัดเป็นขลุ่ยที่มีขนาดเล็กที่สุดบรรดาขลุ่ยไทยทั้งหมด มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีเสียงสูง ขลุ่ยหลิบจะมีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออออกเป็นคู่สี่ คือถ้าปิดรูทั้งหมดจะเป็นเสียง "ฟา" ในขณะที่ขลุ่ยเพียงออจะเป็นเสียง "โด" ใช้ในการบรรเลงในวงมโหรีเครื่องคู่ เครื่องใหญ่ และวงเครื่องสายเครื่องคู่ โดยเป็นเครื่องนำในวงเช่นเดียวกับระนาด หรือซอด้วง นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงในวงเครื่องสายปี่ชวา โดยบรรเลงเป็นพวกหลังเช่นเดียวกับซออู้ 

 
ปี่นอก

ปี่นอก เป็นปี่ที่มีเสียงสูงสุดในบรรดาเครื่องเป่าตระกูลปี่ใน ลักษณะมีขนาดเล็กและเสียงแหลม มีความยาวประมาณ 31 เซนติเมตร มึความกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร มีลักษณะบานหัวบานท้ายเช่นเดียวกับปี่ใน บริเวณเลาปี่ที่ป่องเจาะรู 6 รู ปี่นอกใช้เล่นในวงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงปี่พาทย์ชาตรี 


ปี่ใน

ปี่ใน เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงต่ำ ในบรรดาเครื่องเป่าที่มีลิ้นตระกูลปี่ใน ลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว ลำปี่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงเรียกว่า"เลา" เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ผสมอยู่ในวงปี่พาทย์มาแต่โบราณ ที่เรียกว่า " ปี่ใน " ก็เพราะว่า ปี่ชนิดนี้ เทียบเสียงตรงกับระดับเสียงที่เรียกว่า " เสียงใน " ซึ่งเป็นระดับเสียงที่วงปี่พาทย์ไม้แข็ง บรรเลงเป็นพื้นฐาน ปี่ในใช้บรรเลงใน[[วงปี่พาทย์เครี่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ และได้ใช้ประกอบการแสดงละครใน
   เลาปี่ทำมาจากไม้ เช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน มีความยาวประมาณ 52 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีลักษณะหัวบานท้ายและป่องตรงกลาง เจาะรูกลางตลอดเลา ด้านบนมีรูเล็กใช้เสียบลิ้นปี่ ด้านล่างรูจะใหญ่ บริเวณเลาปี่ที่ป่องตรงกลางจะเจาะรู 6 รู ลิ้นปี่ทำจากใบตาลนำมาตัดซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดผูกกับท่อทองเหลืองเล็กๆ เรียกว่า"กำพวด" ตัวเลาทำด้วยไม้ชิงชัน หรือไม้พยุง กลึงให้ป่องกลาง และบานปลายทั้งสองข้าง ตัวเลาปี่นอกจากจะทำด้วยไม้ แล้วยังพบปี่ซึ่งทำด้วยหิน เป็นของเก่าแต่โบราณภายในเจาะ เป็นรูกลวงตลอดหัวท้ายมีรูสำหรับเปิดปิดนิ้ว 6 รู โดยให้ 4 รูบนเรียงลำดับเท่ากันเว้นห่างพอควร อีก 2 รูอยู่ระหว่างช่องตอนกลางของแต่ละรู ตอนท้ายของเลาปี่จะมีวัสดุกลมแบน ทำด้วยยาง หรือไม้มาเสริม โดยเฉพาะตอนบน สำหรับสอดใส่ลิ้นปี่ เรียกว่า " ทวนบน " ส่วนตอนล่างจะใช้ตะกั่วมาต่อสำหรับลดเลื่อนเสียงเรียกว่า " ทวนล่าง " ลิ้นปี่ประกอบด้วย กำพวด ทำด้วยโลหะ ลักษณะกลมเล็ก เรียว ภายในโปร่งข้างหนึ่งเล็ก ข้างหนึ่งใหญ่ ใบตาล ใช้ใบตาลแก่และแกร่งตัดซ้อน เป็น 4 ชั้น หรือ 4 กรีบ ผูกรัดด้วยเชือกในลักษณะเงื่อน" ตะกรุดเบ็ด " ให้ติดกับกำพวดทางด้านเล็กส่วน ทางด้านใหญ่จะถักหรือเคียนด้วยเส้นเล็กๆ มีขนาดพอดีกับรูปี่ด้านบน (รูเป่า) เพื่อสอดใส่ลิ้นปี่ให้แน่น
จากหลักการเป่าปี่ดังกล่าว ก่อให้เกิดวิธีเป่าและเสียงปี่ที่เป็นพื้นฐานดังนี้
 - เสียงตือ คือเสียงเร
 - เสียงฮอ คือเสียงเร (เสียงเดียวกับ เสียงที่ 1 แต่นิ้วต่างกัน)
 - เสียงแฮ คือเสียงมี
 - เสียงฮือฮอๆ คือเสียงซอล-มี
 - เสียงตอ คือเสียงลา
 - เสียงแต คือเสียงที
 - เสียงอือ คือเสียงเรบน (แหบ)
 - เสียงอื๊อ คือเสียงมีบน (แหบ) 
 - เสียงอือ คือเสียงเรบน (แหบ)เหมือนกับ เลข 7
 - เสียงตอ คือเสียงลา (เหมือนกับหมายเลข 5)
 - เสียงตือ คือเสียงซอล (แต่เป็นเสียงบน ที่ใช้บังคับนิ้วเช่นเดียวกับตือ-เรแต่ใช้ลมดันต่างกัน)
 - เสียงแต่ คือเสียงฟา
 - เสียงตือ คือเสียงซอล (เหมือนหมายเลข 11)
 - เสียงตอล็อค คือเสียงลา (แต่ต่างกันเนื่องจากการบังคับลิ้นปี่)


ปี่ชวา 

ปี่ชวา เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่มีลิ้น เข้าใจว่าเมืองไทยรับมาในคราวเดียวกับกลองแขก ส่วนประกอบของปี่ชวามีดังนี้
ตัวเลา ทำด้วยไม้จริงจริง แบ่งเป็น 2ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"เลาปี่" กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนโคนกลึงให้ใหญ่เล็กน้อย มีลูกแก้วคั่น ท่อนบนของลำปี่ ใต้ลูกแก้วเจาะรู 7รูเรียงตามลำดับ สำหรับปิดเปิด และมี"รูนิ้วค้ำ" อยู่ด้านหลังใกล้กับลูกแก้ว อีกท่อนหนึ่งเรียกว่า"ลำโพงปี่" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียว ปลายบานเหมือนดอกลำโพง ภายในโปร่ง ตอนกลางกลึงเป็นลูกแก้วคั่น ตอนบนจะหุ้มด้วยแผ่นโลหะบางๆ โดยรอบ สวมรับกับตัวลำปี่ได้พอดี
   ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลแก่ ตัดพับซ้อนกันเป็น 4กลีบ สอดใส่ที่ปลาย"กำพวด" ซึ่งทำด้วยโลหะกลมเล็กยาว ภายในโปร่ง ผูกด้วยเชือกเส้นเล็กๆด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด เคียนด้วยด้ายที่โคนกำพวด เพื่อสอดใส่ให้แน่นในรูปี่ เฉพาะลิ้นปี่ชวาจะมี"กะบังลม"ซึ่งทำด้วยไม้หรือกะลา บางกลม สำหรับรองรับริมฝีปากขณะเป่า สำหรับตัวเลาปี่ชวา นอกจากจะทำด้วยไม้แล้ว ยังสามารถทำให้สวยงามด้วยงาทั้งเลา หรือทำด้วยไม้ประดับงา ปี่ชวาใช้ในการบรรเลงในวงบัวลอย วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวานอกจากนี้ปี่ชวายังใช้ในการเป่าประกอบการรำกระบี่กระบองและการชกมวยอีกด้วย

ปี่มอญ

ปี่มอญ เป็นเครื่องเป่าในตระกูลปี่ ไทยได้แบบอย่างมาจากมอญ ปี่ชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"ตัวเลา" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนปลายกลึงผายออกเล็กน้อย ถัดลงมากลึงเป็นลูกแก้วคั่นสำหรับผูกเชือกโยงกับตัวลำโพง ที่ตัวเลาด้านหน้าเจาะรู 7 รู เรียงตามลำดับเพื่อเปิดปิดนิ้วบังคับเสียง ด้านหลังตอนบนเจาะอีก 1 รูเป็น"รูนิ้วคำ" อีท่อนหนึ่งเรียกว่าลำโพง ทำด้วยทองเหลืองหรือสแตนเลส ลักษณะคล้ายดอกลำโพง แต่ใหญ่กว่า ปลายผายบานงุ้มขึ้น ตอนกลางและตอนปลายตีเป็นลูกแก้ว ตัวเลาปี่จะสอดใส่เข้าไปในลำโพง โดยมีเชือกเคียนเป็นทักษิณาวัฏ ในเงื่อน"สับปลาช่อน" ยึดระหว่างลูกแก้วลำโพงปี่กับลูกแก้วตอนบนของตัวเลาปี่ เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกันง่ายๆ
 เนื่องจากว่าปี่มอญมีขนาดใหญ่และยาวกว่าปี่อื่นๆ ทำให้กำพวดของปี่จึงต้องยาวไปตามส่วนโดยมีความยาวประมาณ 8-9 ซม. และเขื่องกว่ากำพวดของปี่ชวา และมีแผ่นกะบังลมเช่นเดียวกับปี่ชวาและปี่ไฉน
ปี่มอญใช้เล่นในวงปี่พาทย์มอญและเล่นประกอบเพลงออกภาษาในภาษามอญ


ปี่ไฉน

ปี่ไฉน เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า "เลาปี่" ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า "ลำโพง" ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา โดยจ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา 


แคน

แคน เป็นเครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวอีสานเหนือที่ใช้ไม้ซางขนาดต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเป็นตัวแคน แคนเป็นสัญลักษณ์ของภาคอีสาน เป็นเครื่องเป่ามีลิ้นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ที่เป็นลูกแคน การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออกด้วย จึงเป่ายากพอสมควร แคนมีหลายขนาด บางขนาดมีเสียงประสานอยู่ด้วย
ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้
ประเภทของแคน
แคนมีหลายประเภทตามจำนวนลูกแคน คือ
1. แคนหก มีลูกแคน 3 คู่ (6 ลูก) เป็นแคนขนาดเล็กที่สุด สำหรับเด็กหรือผู้เริ่มฝึกหัดใช้เป่าเพลงง่าย ๆ เพราะเสียงไม่ครบ
2. แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก) เป็นแคนขนาดกลาง มีเสียงครบ 7 เสียง ตามระบบสากล และมีระดับเสียงสูง ต่ำ ทั้ง 7 เสียง หรือที่เรียกว่า คู่แปด คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที (คู่แปด คือทุกเสียงเช่นเสียงโด ก็จะมีทั้งเสียงโดสูง และโดต่ำ ทุกเสียงมีคู่เสียงทั้งหมด)
3. แคนแปด ใหญ่กว่าแคนเจ็ด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก) คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เพิ่มคู่เสียงระดับสูงขึ้นไปให้เป็นเสียงประสานในการเล่นเพลงพื้นเมือง
4. แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก) ใหญ่ที่สุด เวลาเป่าต้องใช้ลมมากจึงไม่ค่อยมีคนนิยม ในเรื่องระดับเสียงของแคนเหมือนระบบเสียงดนตรีสากลนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจ น่าที่จะได้ศึกษากันต่อไปว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ดนตรีไทยไม่มีขั้นครึ่งเสียง และเพลงพื้นเมืองอีสานใช้เพียง 5 ขั้น คือ โด เร มี ซอล ลา ไม่มีเสียงฟา และ ที
แคนนอกจากบรรเลงเป็นวงแล้ว ก็ยังใช้บรรเลงประกอบการลำ (การขับร้อง) หรือใช้บรรเลงร่วมกับพิณ โปงลาง ฯลฯ


ปี่จุม

ปี่จุม เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าของภาคเหนือ (ล้านนา) คำว่า "จุม" เป็นภาษาล้านนาหมายถึงการชุมนุม หรือการประชุมกัน ดังนั้น ปี่จุม จึงหมายถึง การนำปี่หลายๆเล่มนำมาเป่ารวมกัน ปี่จุมทำด้วยไม้รวก ลำเดียว นำมาตัดให้มีขนาดสั้น ยาว เรียงจากขนาดเล็ก(ปลายไม้) ไปหาใหญ่(โคนของลำไม้)มีต่าง ๆ กัน ตามระดับเสียง เรียงจากขนาดเล็ก ซึ่งมีระดับสูง ไปหาขนาดใหญ่ที่มีเสียงต่ำ ดังนี้
 - ปี่ก้อยเล็ก
 - ปี่เล็ก หรือ ปี่ตัด
 - ปี่ก้อย
 - ปี่กลาง
 - ปี่แม่
ปี่จุมนิยมใช้บรรเลงประกอบการขับซอพื้นเมืองของล้านนา นิยมกันมากในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง โดยเพลงหรือทำนองซอที่ใช้ปี่จุมบรรเลง ได้แก่ ทำนองตั้งเชียงใหม่ จ้อยเชียงแสน จะปุ ละม้าย เงี้ยว พม่า อื่อ ล่องน่านก๋าย พระลอเดินดง
ประเภทของปี่จุม
ปี่จุม 3 ประกอบด้วย ปี่ตัด ปี่ก้อย ปี่กลาง
ปี่จุม 4 ประกอบด้วย ปี่ตัด ปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่แม่
ปี่จุม 5 ประกอบด้วย ปี่ก้อยเล็ก ปี่ตัด ปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่แม่


ปี่อ้อ

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่ (เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียว ไม่มีข้อยาวประมาณ 24 เซนติเมตร เขียนลวดลายด้วย การลนไฟให้ไหม้เกรียมเฉพาะที่ต้องการหัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงินเพื่อป้องกันมิให้แตก เจาะรูสำหรับเปิดปิด นิ้วเรียงตาม ลำดับด้านหน้า 7 รู และมีนี้วค้ำด้านหลัง 1 รูเช่นเดียวกับขลุ่ย ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็กๆ เหลาให้บางยาว 5 เซนติเมตร ไว้ทางหนึ่งให้ กลมพันด้วยด้ายเพื่อให้กระชับพอที่จะเสียบเข้าไปในเลาปี่ 1 เซนติเมตรพอดีกับรูของตัวปี่ อีกทางหนึ่งผ่าเจียนเป้น 23 ซีก ปลายมน ตัดให้แบนเข้าแนบประกบกว้างราว 2 เวนติเมตรนัยว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ร่วมอยู่ในวงเครื่องสายมาก่อน ต่อมาได้ใช้ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลุ่ยหลิบเข้าผสมแทน ปี่อ้อจึงหายไป 


ปี่แน

ปี่แน เป็นปี่ประเภทลิ้นคู่ทำด้วยใบตาล ซึ่งผ่านกรรมวิธี มีรูบังคับเสียง เช่นเดียวกับปี่ใน นิยมบรรเลงในวงกลองตึ่งนง วงพาทย์เมือง เป็นต้น มี 2 ขนาด ได้แก่
ขนาดเล็กนั้นเรียกว่าแนเล็ก โดยมีรูปร่างคล้ายปี่ชวาแต่มีขนาดใหญ่กว่า
ขนาดใหญ่เรียกว่าแนหลวง มีรูปร่างคล้ายปี่มอญ


 ระนาดเอก

ระนาดเอก เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน ระนาดเอกใช้ในงานมงคล เป็นเครื่องดนตรีเป็นมงคลในบ้าน บรรเลงในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
ลักษณะทั่วไป
ส่วนประกอบของระนาดเอก มี 3 ส่วน ได้แก่ ผืน ราง และไม้ตี
    ผืน ประกอบด้วยลูกระนาด ซึ่งทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ ผืนระนาดไม้เนื้อแข็ง เสียงจะแกร่ง และดังคมชัดเหมาะสำหรับบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ส่วนผืนระนาดที่ทำจากไม้ไผ่จะให้เสียงที่นุ่มนวล เหมาะสำหรับวงปี่พาทย์ไม้นวมและวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย ลูกระนาดมีทั้งหมด 21-22 ลูก โดยลูกที่ 22 มีชื่อเรียกว่า ลูกหลีก หรือ ลูกหลิบ ที่ท้องของลูกระนาดจะคว้านและใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วถ่วงเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเสียง โดยเสียงจากผืนระนาดขึ้นอยู่กับส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรก ขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่-เล็ก ของไม้ที่ใช้ทำ ส่วนที่สอง ขึ้นอยู่กับการคว้านท้องไม้ลูกระนาดว่ามาก-น้อยเพียงใด ส่วนที่สามขึ้นกับปริมาณมาก-น้อยของตะกั่วที่ถ่วงใต้ลูกระนาดแต่ละลูก ลูกระนาดทั้งหมดจะถูกเจาะรูเพื่อร้อยเชือก และแขวนบนรางระนาด
ราง เป็นส่วนที่เป็นกล่องเสียงของระนาด ทำให้หน้าที่อุ้มเสียง นิยมทำด้วยไม้สักและทาด้วยน้ำมันขัดเงา ปัจจุบันการใช้ระนาดที่ทำด้วยไม้และทาด้วยน้ำมันลดความนิยมลง นักดนตรีนิยมใช้รางระนาดที่แกะสลักลวดลายไทยและลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม บางโอกาส อาจมีการฝังมุก ประกอบงา ซึ่งราคาก็จะสูงตามไปด้วย จากการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วไป รางประกอบงาจึงไม่ได้รับความนิยม รูปร่างระนาดเอกคล้ายเรือบดแต่โค้งเรียวกว่า ตรงกลางของส่วนโค้งมีเท้าที่ใช้สำหรับตั้ง เป็นเท้าเดียวคล้ายพานแว่นฟ้า ปลายทั้งสองข้างของส่วนโค้งเรียกว่า โขน จะมีขอสำหรับห้อยผืนระนาดข้างละ 2 อัน
    ไม้ระนาด เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดเสียงโดยตรง มี 2 ชนิด คือ ไม้แข็ง และไม้นวม ไม้แข็งพันด้วยผ้าอย่างแน่น และชุมด้วยรักจนเกิดความแข็งเวลาตีจะมีเสียงดัง และคมชัด เหมาะกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์ ส่วนไม้นวม เป็นไม้ตีระนาดที่พันจากผ้า และใช้ด้ายรัดหลาย ๆ รอบเพื่อความสวยงาม มีเสียงนุ่มนวม บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
    ขนาดของระนาดเอก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม

 
ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุมราง
    หน้าที่ในวงของระนาดทุ้มนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเองซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม

 
กรับ

กรับ เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งกรับนั้นมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และกรับเสภา
ประเภทของกรับ
กรับคู่
   ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง กรับ

 กรับพวง

กรับพวง   เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะรัวกรับ และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฏกรรมด้วย
กรับเสภา
   ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า กรับเสภา

 
โปงลาง

โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี มีลักษณะคล้ายระนาดแต่แขวนในแนวดิ่ง เป็นที่นิยมในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้พัฒนา
   นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529 ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการพัฒนาโปงลางจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาโปงลางขึ้นจากเกราะลอ ซึ่งใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา
พระมหากรุณาธิคุณ
    เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงโปงลางที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสร้างความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสเฝ้าชมบารมี ขณะที่ทรงโปงลางอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์
ลายเดี่ยว
ลายกาเต้นก้อน (ครูเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นผู้แต่ง)
ลายลายนกไซบินข้ามทุ่ง
วิธีทำ
  โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมี โปงลางที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจากระนาดซึ่งมีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ
การตี
    การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน มี หมอเคาะกับหมอเสิฟ หมอเคาะ คือผู้ที่ตีทำนองของเพลงหรือลายนั้น ส่วนหมอเสิฟ คือผู้ที่ตีประสานจะตี 2 ลูก เช่น ตี ลา-มี หรือ ซอล-เร เป็นต้น การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดย การสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" เพลง "ลายกาเต้นก้อน" เพลง "ลายแมลงภู่ตอมดอกไม้" เป็นต้น


ฆ้องวงใหญ่

ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง ฆ้องวงใหญ่ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี

ฆ้องวงเล็ก

ฆ้องวงเล็ก เป็นเครื่องดนตรีไทยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะเหมือนกับฆ้องวงใหญ่ แต่ลูกฆ้องมีขนาดเล็กกว่า มีลูกฆ้อง 18 ลูก บรรเลงทำนองคล้ายระนาดเอก แต่ตีเก็บถี่กว่าระนาดเอก
ฆ้องวงเล็กใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี


ฆ้องมอญ 

ฆ้องมอญเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญมีลักษณะตั้งโค้งขึ้นไป ไม่ตั้งราบกับพื้นแบบฆ้องไทย วงฆ้องทำจากไม้แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม ทางโค้งด้านซ้ายของผู้ตีแกะเป็นรูปต่างๆตามต้องการ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรูปเทวดา ทางโค้งด้านขวาทำเป็นรูปปลายหาง มีเท้ารองตรงกลางเหมือนระนาดเอก ฆ้องมอญมีลูกฆ้อง 15 ลูก แต่ฆ้องมอญจะไม่เรียงเสียงเหมือนฆ้องไทย ในบางช่วงมีการข้ามเสียง เรียกเสียงที่ข้ามว่า"หลุม"
     ฆ้องมอญทำหน้าที่เดินทำนองเพลงเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ของไทย ฆ้องมอญมี 2 ขนาดเหมือนกับฆ้องไทยคือ ฆ้องมอญใหญ่และฆ้องมอญเล็กฆ้องมอญใช้เล่นในวงปี่พาทย์มอญ


โหม่ง

โหม่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีชนิดหนึ่ง ใช้ตีประกอบจังหวะ โหม่ง คือ ฆ้องคู่ เสียงต่างกันที่เสียงแหลมเรียกว่า "เสียงโหม้ง" ที่เสียงทุ้มเรียกว่า"เสียงหมุ่ง" หรือ บางครั้งอาจจะเรียกว่าลูกเอกและลูกทุ้มซึ่งมีเสียงแตกต่างกันเป็นคู่ห้า แต่ปัจจุบันเป็นคู่แปด วิธีตีโหม่งในวงเครื่องสายหรือปี่พาทย์ ผู้ตีนั่งขัดสมาธิ ให้โหม่งวางอยู่ตรงหน้า จับไม้ตีตีตรง กลางปุ่มด้วยน้ำหนักพอประมาณเนื่องจากโหม่งชนิดนี้มีเสียงดังกังวานยาวนาน จึงนิยมตีห่างๆ คือสองฉิ่งสอง ฉับต่อการตีโหม่งครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นวงกลองยาวหรือวงมังคละ จะนิยมตีลงที่จังหวะหนัก(ฉับ)ตลอดโดยไม่เว้น
 

ฉิ่ง

ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด มี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง ฉิ่ง แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง ฉับ ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง


ฉาบ

ฉาบ (อังกฤษ: cymbal) เป็นเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัชชัน มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะบางๆ รูปร่างคล้ายจาน โดยส่วนมากจะเป็นเครื่องดนตรีไม่มีระดับเสียง
ฉาบในดนตรีสากล
   เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในดนตรีหลายชนิด เช่นวงออร์เคสตราสมัยใหม่ วงมาร์ช วงคอนเสิร์ต ดนตรีทหาร รวมถึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลองชุดในปัจจุบันด้วย ในวงโยธวาทิต สามารถแบ่งฉาบที่ใช้ออกได้เป็นสองชนิด คือ ฉาบคู่ และฉาบแขวนหรือฉาบรัว ฉาบคู่เป็นฉาบสองใบ แต่ละใบจะมีสายเป็นวงสำหรับถือ การเล่นใช้มือแต่ละข้างถือฉาบแล้วนำเข้ามากระทบกัน ส่วนฉาบแขวน เป็นฉาบใบเดียวแขวนกับขาตั้ง นิยมตีด้วยไม้แบบหัวมัลเล็ตหุ้ม ในกลองชุดก็ใช้ฉาบแบบนี้เช่นเดียวกัน
ฉาบในดนตรีไทย
    ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือฉาบเล็ก และ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม ส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2 ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น
ฆ้องคู่

ฆ้องคู่ เป็นฆ้องที่มี 2 ใบมีขนาดเล็ก เสียงต่ำใบหนึ่ง เสียงสูงใบหนึ่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ ชุดหนึ่งมีสองลูก ลูกใหญ่ให้เสียงต่ำ ลูกเล็กให้เสียงสูง ไม้ตีทำด้วย แผ่นหนังวัว หรือ ใบหนังควายตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลางใส่ก้านไม้ ใช้บรรเลงในการเชิดหนังตะลุงและละครโนราชาตรี ชุดหนึ่งมี 2 ลูก, ปักษ์ใต้เรียก โหม่ง


กลองแขก

กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ. หน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 cm เรียกว่า หน้ารุ่ยหรือ "หน้ามัด" ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 15 cm เรียกว่า หน้าต่านหรือ"หน้าตาด" ตัวกลองหรือหุ่นกลองสามารถทำขึ้นได้จากไม้หลายชนิดแต่โดยมากจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นหุ่นกลอง เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้พยุง กระพี้เขาควาย ขนุน สะเดา มะค่า มะพร้าว ตาล ก้ามปู เป็นต้น ขอบกลองทำมาจากหวายผ่าซีกโยงเรียงเป็นขอบกลองแล้วม้วนด้วยหนังจะได้ขอบกลองพร้อมกับหน้ากลอง และถูกขึงให้ตึงด้วยหนังเส้นเล็ก เรียกว่าหนังเรียดเพื่อใช้ในการเร่งเสียงให้หน้ากลองแต่ละหน้าได้เสียงที่เหมาะสมตามความพอใจ กลองแขกสำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก
ลักษณะเสียง
กลองแขกตัวผู้ มีเสียงที่สูงกว่ากลองแขกตัวเมียโดย เสียง "ติง" ในหน้ามัด และเสียง โจ๊ะ ในหน้าตาด
กลองแขกตัวเมีย มีเสียงที่ต่ำกว่ากลองแขกตัวผู้ โดย เสียง ทั่ม ในหน้ามัด และเสียง จ๊ะ ในหน้าตาด
วิธีการบรรเลง
การบรรเลงนั้นจะใช้มือตีไปทั้งสองหน้าตามแต่จังหวะหรือหน้าทับที่กำนดไว้ ในหน้าเล็กหรือหน้าตาด จะใช้นิ้วชี้หรือนิ้วนางในการตี เพื่อให้เกิดเสียงที่เล็กแหลม ในหน้ามัดหรือหน้าใหญ่ จะใช้ฝ่ามือตีลงไปเพื่อให้เกิดเสียงที่หนักและแน่น ซึ่งมีวิธีการบรรเลงที่ละเอียดอ่อนลงไปอีกตามแต่กลวิธีที่ครูอาจารย์แต่ละท่านจะชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ


เปิงมางคอก

เปิงมางคอก เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง แต่เดิมเป็นเครื่องดนตรีของชาวมอญ ใช้ตีหยอกล้อกับตะโพนมอญ มีลักษณะเป็นกลองขนาดต่างกัน 7 ลูกผูกเป็นราวในชุดเดียวกัน เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก ตัวกลองขึงด้วยหนังสองหน้า ขึ้นหน้าด้วยหนังเรียดโยงสายเร่งหนังหน้ากลองเป็นแนวยาวตลอด เวลาบรรเลงต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า คอกเปิงมางทำเป็นรั้ว 3 ชิ้นติดต่อกัน มีตะขอแขวนลูกเปิงเป็นระยะ คอกเป็นรูปเกือบครึ่งวงกลม เปิงมางคอกใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ


กลองทัด

กลองทัด เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ตรึงด้วยหมุด หุ่นกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ป่องตรงกลางนิดหน่อยหมุดที่ตรึง หนังเรียกว่าแส้ ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์ตรงกลางหุ่น กลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า หูระวิง กลองทัดมีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 46 ซม ตัวกลองยาวประมาณ 41 ซม กลองทัดมี 2 ลูก ลูกที่มีเสียงสูง ดัง ตุม เรียกว่า ตัวผู้ และ ลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง ต้อม เรียกว่า ตัวเมีย ใช้ไม้ตี 1 คู่ มีขนาดยาวประมาณ 54 ซม
กลองทัดใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ โดยเล่นคู่กับตะโพน


 กลองยาว

กลองยาว เป็นเครื่องดนตรี สำหรับตีด้วยมือ ตัวกลองทำด้วยไม้ มีลักษณะกลมกลวง ขึงด้วยหนังมีหลายชนิด ถ้าทำด้วยหนังหน้าเดียว มีรูปยาวมากใช้สะพายในเวลาตี เรียกว่ากลองยาวหรือเถิดเทิง
ประวัติกลองยาว
                เชื่อกันว่ากลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า ในสมัยกรุงธนบุรี หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกัน เวลาพักรบ พวกทหารพม่าก็เล่น "กลองยาว" กันสนุกสนาน พวกชาวไทยได้เห็นก็จำแบบอย่างมาเล่นบ้าง แต่บางท่านก็เล่าว่า กลองยาวของพม่าแบบนี้ มีชาวพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค ทอดกฐิน เป็นต้น และนิยมเล่นกันเป็นที่รื่นเริง สนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ และเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง วงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วม มี ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "เถิดเทิง" หรือ "เทิงกลองยาว" ที่เรียกเช่นนี้เข้าใจว่า เรียกตามเสียงกลองที่ตีและตามรูปลักษณะกลองยาว


กลองสองหน้า

กลองสองหน้า สันนิษฐานว่าเริ่มนำมาใช้ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีลักษณะคล้ายลูกเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า หน้ากลองด้านกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 21-24 เซนติเมตร ด้านเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-22 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 55-58 เซนติเมตร ใช้ในวงปี่พาทย์เสภาและใช้ตีประกอบจังหวะการเดี่ยวเครื่องดนตรีต่างๆด้วย


โทน

โทน เป็นชื่อของเครื่องหนัง ที่ขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอ มีหางยื่นออกไปและบานปลาย มีชื่อเรียกคู่กันว่า โทนทับ โดยลักษณะรูปร่างนั้น โทนมีชื่อเรียกกันได้ตามรูปร่างที่ปรากฏ 2 ชนิดคือ โทนชาตรี และ โทนมโหรี
    โทนชาตรีนั้น ตัวโทนทำด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กะท้อนมีขนาดปากกว้าง 17 ซม ยาวประมาณ 34 ซม มีสายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ตีด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิด ปลายหางที่เป็นปากลำโพง ช่วยให้เกิดเสียงต่างๆ ใช้สำหรับ บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี และหนังตะลุง และตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือ ตะลุง
     ส่วนโทนมโหรีนั้น ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึงหนังโตกว่า โทนชาตรี ขนาดหน้ากว้างประะมาณ 22 ซม ยาวประมาณ 38 ซม สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว ขึ้นหนังด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้าง ใช้สำหรับบรรเลงคู่กับรำมะนา โดยตีขัดสอดสลับกัน ตามจังหวะหน้าทับ


รำมะนา

รำมะนา เป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง มีอยู่ 2 ชนิด คือ "รำมะนามโหรี" และ "รำมะนาลำตัด"
รำมะนามโหรี มีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ 26 ซม ตัวรำมะนายาว ประมาณ 7 ซม หนังที่ขึ้นหน้าตรึงด้วยหมุดโดยรอบ จะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งที่เรียกว่า สนับ สำหรับหนุนข้างในโดยรอบ ช่วยทำให้เสียงสูงได้ บรรเลงใช้ตีด้วยฝ่ามือคู่กับโทนมโหรี
ส่วน รำมะนาลำตัด มีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 48 ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ 13 ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบปน้ากับวงเหล็กซึ่งรองก้นใช้เป็นขอบ ของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลายๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากชวาและเข้ามาแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบการเล่นลำตัดและลิเกลำตัด ในการประกอบการเล่นลำตัดนั้นจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ โดยให้คนตีนั่งล้อมวงและเป็นลูกคู่ร้องไปด้วย

กลองสะบัดชัย

กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี กลองสะบัดชัยโบราณมี 3 ทำนอง คือ ชัยเภรี, ชัย ดิถี และชนะมาร
การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
รูปร่างลักษณะกลองสะบัดชัย
    รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือกลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่วัดเจดีย์สูง ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก 1 ลูก กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน
ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือกลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่าง ๆ ในเขตล้านนา ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีกลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 3035 นิ้ว ยาวประมาณ 45 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุด ( ล้านนาเรียก ‘' แซว่ ) โดยที่หมุดไม่ได้ตัดเรียบคงปล่อยให้ยาวออกมาโดยรอบ ข้าง ๆ กลองใหญ่ มีกลองขนาดเล็ก 2 - 3 ลูก เรียกว่า ลูกตุบ ‘' กลองลูกตุบทั่วไปมักมีสองหน้าบางแห่งมีหน้าเดียว ขนาดหน้ากว้างประมาณ 810 นิ้ว ความยาวประมาณ 1215 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุดเช่นกันดังที่ได้กล่าวแล้ว กลองสะบัดชัยในปัจจุบันเป็นกลองที่ย่อส่วนมาจากวัด เมื่อย่อขนาดให้สั้นลง โดยหน้ากว้างยังคงใกล้เคียงกับของเดิม ลูกตุบก็ยังคงอยู่ ลักษณะการหุ้มหน้ากลองเหมือนของเดิมทุกประการ ตัวกลองติดคานหามสำหรับคนสองคนหามได้ ต่อมาไม่นิยมใช้ลูกตุบ จึงตัดออกเหลือแต่กลองใหญ่ ลักษณะการหุ้มเปลี่ยนจากการตรึงด้วยหมุดมาใช้สานเร่งเสียง เพราะสะดวกต่อการตึงหน้ากลองให้ตึงหรือหย่อนเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ ข้างกลองประดับด้วยไม้แกะสลักซึ่งนิยมแกะเป็นรูปนาค และมีผ้าหุ้มตัวกลองให้ดูสวยงามอีกด้วย
บทบาทของกลองสะบัดชัย
                อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันศิลปะการตีกลกองสะบัดชัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมพื้นสู่ล้านนา และบทบาทของกลองสะบัดชัยจึงอยู่ในฐานะการแสดงในงานวัฒนธรรมต่าง ๆเช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมืองขบวนแห่ ฯลฯ
แต่โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัยแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณกรรมต่าง ๆมากมาย สรุปได้ดังนี้
ใช้ตีบอกสัญญาณ
การใช้กลองสะบัดชัยตีบอกสัญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ดังนี้

สัญญาณโจมตีข้าศึก
    ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม ผูกที่ 2 กล่าวถึงสมัยพระญามังราย ตอนขุนครามรบพระญาเบิกที่เมืองเขลางค์ ขุนครามแต่งกลให้ขุนเมืองเชริงเป็นปีกขวา ขุนเมืองฝางเป็นปีกซ้ายยกพลเข้าโจมตี กล่าวว่า ‘' เจ้าขุนครามแต่งกลเส็กอันนี้ แล้วก็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้ง ( ฆ้อง ) ตีกลองชัย ยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเบิก ยู้ขึ้นมาวันนั้นแล กลองชัยในที่นี้ คือกลองสะบัดชัยนั่นเอง เพราะในบริบทที่ใกล้เคียงกันนี้มีคำว่า
‘' สะบัดชัย ตีคู่กับฆ้องอยู่ด้วย กล่าวคือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พระยาลุ่มฟ้าห้อยกพลเข้าตีเชียงแสนชาวเมืองแต่งกลศึกโดยขุดหลุมพรางฝังหลาว แล้วตีปีกทัพล้อมไล่ทัพห้อให้ถูกกล
‘' ยามแตรจักใกล้เที่ยงวันหร้อ ( ฮ่อ ) ยกพลเส็กเข้ามาชาวเราจิ่งเคาะคล้อง ( ฆ้อง ) ตีสะบัดชัย ยกพลเส็กกวมปีกกากุมติดไว้ และในสมัยพระญาติโลกราช ตอนหมื่นด้งนครรบชาวใต้ ( สองแคว ) ได้ให้พลโยธาซุ่มอยู่จนข้าศึกตายใจแล้ว กล่าวว่า ‘' หมื่นด้งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีสะบัดชัย เป่าพุลุ ลาภา ปลี่หร้อยอพลเส็กเข้า ฝูงอยู่คุ่มไม้ก็สว่ายเดงช้างตีจองวองยู้เข้าไพ โห่ร้องมี่นันมากนัก
สัญญาณบอกข่าวในชุมชน
   วรรณกรรมไทเขินเรื่อง ‘' เจ้าบุญหลง ผูกที่ 5 ตอนชาวเมืองปัญจรนคาผูกผุสรถเพื่อเสี่ยงเอาพญาเจ้าเมือง อามาตย์ได้สั่งให้เสนาไปป่าวประกาศ ‘' อมาตยแก้วพรองเมือง หื้อเสนาเนืองเอิ้นป่าว ค้อนฟาดหน้ากลองไชย เสียงดังไปผับจอด รู้รอดเสี้ยงปัญจรนคร ‘' และผูกที่ 7 ตอนเจ้าพรหมปันจัดเตรียมทัพไปเยี่ยมอนุชาและมารดา ได้สั่งให้เสนาไปร้องป่าวให้ชาวเมืองเตรียมขบวนาร่วมด้วย ‘' เจ้าก็ร้องเสนามาสู่ แทบใกล้กู่ตนคำปลงอาชญาทำโดยรีบ ถีบคนใช้หนังสือ กลองสะบัดชัยตีป่าวกล่าวไพร่ฟ้ามามวล
เป็นมหรสพ
 วรรณกรรมเรื่อง อุสสาบารส ผูกที่ 1 ตอนพระยากาลีพรหมราชให้นำมเหสีสุราเทวีไปเที่ยวชมสวนอุทยานและในสวนอุทยานก็มีการเล่นมหรสพ ‘' มหาชนา อันว่าคนทังหลายก็เหล้นมโหรสพหลายประการต่าง ๆ ลางพร่องก็ตีกลองสะบัดชัยตื่นเต้น ลางพร่องก็ตีพาทย์ค้องการะสับ ลางพร่องเยียะหลายฉบับ ฟ้อนตบตีนมือ ลางพร่องปักกะดิกเอามือตางตีน
ในวรรณกรรมประเภทคร่าวซอเรื่อง หงส์หิน ที่แต่งโดยเจ้าสุริยวงส์ ตอนมีงานสมโภชเจ้าหงส์หินได้เป็นเจ้าเมืองกล่าวถึงการเล่นมหรสพต่าง ๆ ซึ่งมีกลองสะบัดชัยด้วย ว่า
‘' เจ็ดแบกเมี้ยน บ่ถูกตัวเขา ดาบลาเอา ท่ารบออกเหล้นกลองสะบัดชัย ลูกตุบไล่เต้น ขบวนเชิงต่อยุทธ์ ชนผัดหลัง แล้ววางอาวุธ พิฆาตข้าฟันลอง
และแม้ในงานศพของกษัตริย์ หรือเจ้าเมืองก็มีกลองสะบัดชัยเป็นมหรสพ เช่น ที่ปรากฏในวรรณกรรมคร่าวซอเรื่องก่ำกาดำ ตอนงานศพของพระยาพาราณสี
‘' เชิญพระศพมา ฐานตั้งไว้ กลางข่วงกว้างเมรุไชย ฟังดูกลองค้อง พิณพาทย์เสียงใส เภรีบัดไชย สรรญเสริญเจ้า
เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ
                วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง ‘' ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา
[แก้]เครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน
ในวรรรณกรรมประเภทโคลงเรื่องอุสสาบารส มีการตีกลองสะบัดชัย ดื่มสุราในเหล่าพลโยธายามว่างจากการรบ ดังปรากฏในโคลงบทที่ 130 ว่า
พลท้าวชมชื่นเหล้น สะบัดชัย อยู่แล
มัวม่วนกินสนุกใจ โห่เหล้า
ทัพหลวงแห่งพระขิต ชมโชค พระเอย่
กลองอุ่นเมืองท้าวก้อง ติ่งแตร
บทบาทและหน้าที่ของกลองสะบัดชัยจากหลักฐานทางวรรณกรรมดังกล่าวแสดงว่าแต่เดิมนั้นเกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพทั้งนั้นต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์เจ้าเมืองของล้านนาถูกลดอำนาจจนสูญไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูง จึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ ศาสนจักร ซึ่งมีบทบาทคู่กับ ‘' อาณาจักร มาตลอดศาสนสถานของพุทธศาสนาคือวัด ฉะนั้นวัดจึงน่าจะเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือตีเป็น ‘' พุทธบูชา จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า กลองปูชา ( อ่าน ก๋องปู๋จา ) เวลาตีก็บอกว่า ตีกลองปูชา กระนั้นก็ตามหลายแห่งยังพูดว่า ตีกลองสะบัดชัย อยู่ดี
อย่างไรก็ตามแม้จะได้หน้าที่ที่ใหม่แล้ว หน้าที่เดิมที่ยังคงอยู่ก็คือเป็น สัญญาณ เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชนข่าวสารต่าง ๆ จึงมักออกจากวัด ปัจจุบันจึงได้ยินเสียงกลองจากวัดอยู่บ้าง ( เฉพาะวัดที่ยังไม่มีเครื่องเสียงตามสาย ) เพื่อเป็นสัญญาณเรียกประชุมสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกนวันพระและหน้าที่รองลงมาที่เกือบจะสูญหายแล้วาคือเป็น ‘' มหรสพ ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญคือ บุญสลากภัตต์ที่เรียกว่า ทานกวยสลาก ( อ่าน ‘' ตานก๋วยสะหลาก )



 กลองชาตรี

กลองชาตรี เป็นกลองสองหน้า มีรูปร่างเหมือนกลองทัดทุกอย่างแต่ขนาดย่อส่วนเปรียบเหมือนแม่กับลูก กลองชาตรีเป็นลูก มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 20 ซม. และสูง 24 ซม.ใช้เป็นคู่เช่นเดียวกัน ใช้ทำหน้าทับในวงปี่พาทย์เครื่องห้า หรือวงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบการแสดงละครโนรา ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี 


กลองตะโพน

กลองตะโพน คือตะโพนที่นำมาตีแบบกลองทัด กลองตะโพนใช้ตะโพน 2 ลูก เสียงสูงและเสียงต่ำแล้วนำมาตั้งขึ้นแบบกลองทัด ใช้ไม้ระนาดนวมเป็นไม้ตี ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ยังใช้แทนกลองทัดในวงปี่พาทย์ไม้นวมเมื่อบรรเลงภายในอาคาร เพื่อไม่ให้เสียงดังเกินไป


กลองมังคละ

กลองมังคละ
เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านในเขตภาคเหนือตอนล่าง เป็นที่นิยมกันมานาน มีหลักฐานว่า ดนตรีมังคละเล่นกันมานานนับแต่ครั้งกรุงสุโขทัย มีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 บันทึกไว้ว่า "ท้าวหัวราน คำบง คำกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เลื่อนขับ" มีผู้ให้คำอธิบายและตีความว่า คำบง คำกลอง เป็นคำโบราณที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแปลว่า การประโคม ดังนั้นคำว่า คำบง คำกลอง จึงหมายถึงการตีกลองหรือประโคมกลองที่ขึงด้วยหนัง ซึ่งหมายถึงกลองมังคละ การละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัยจังหวัดพิษณุโลก โดยลักษณะกลองมังคละนี้มีความเหมือนกับเครื่องดนตรี "กาหลอ" ดนตรีทางพื้นถิ่นภาคใต้และวง "มงคลเภรี" ของศรีลังกาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ บันทึกไว้ในคราวตรวจการที่หัวเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2444 ได้ยินดนตรีดังกล่าวบริเวณวัดสะกัดน้ำมันจึงได้เรียกมาแสดงให้ดู ได้ให้ทัศนะต่อดนตรี "มังคละ" ว่า "เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้" 


กลองมโหระทึก

กลองมโหระทึก หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "ฆ้องกบ" มีลวดลายด้านบนเป็นรูปกบซึ่งมีทั้งหมด 4 ตัว หมายถึงฝน ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารซึ่งคนในประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และตอนใต้ของจีน หรือเรียกว่า อุษาคเนย์ ต่างมีชีวิตทำนาปลูกข้าว การมีฝนฟ้าบริบูรณ์จึงหมายถึงความมั่นคงแห่งอาณาจักรนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคนโบราณสร้างกลองมโหระทึกเพื่อใช้ในพิธีขอฝนหรือพิธีไสยศาสตร์ หรือแสดงฐานะอันมั่นคงสูงส่ง หรือใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย หรือใช้ในสงคราม ลวดลายอันสวยงามบนผิวกลอง ได้แก่ ลายรัศมีดาวหรืออาทิตย์ 12 แฉก ลายคนสวมเครื่องประดับศีรษะด้วยขนนก ลายนกกระสา ลายซี่หวี และกลีบดอกไม้ การหล่อภาชนะสำริดให้มีลวดลายสวยงามนั้นต้องผ่านการหล่อแล้วตกแต่งหลายครั้ง คือ ครั้งแรกหล่อเพื่อขึ้นรูปเป็นกลองหลังจากนั้นหล่อลายประดับอีกหลายครั้งทั้งด้านบนและด้านข้างช่างผู้หล่อสำริดจึงต้องชำนาญมาก


ซอด้วง

ซอด้วง เป็นซอสองสาย มีเสียงแหลม ก้องกังวาน คันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้
  แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนังงูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะของซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู ฉิน (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่เหมือนกีน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง
สายซอด้วงนั้น มีเพียงสองสายและมีเสียงอยู่ สองเสียง คือสายเอกจะเป็นเสียง "เร" ส่วนสายทุ้มจะเป็นเสียง "ซอล" โดยใช้สายไหมฟั่นหรือว่าสายเอ็นก็ได้ ซอด้วงใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง


ซอสามสาย

ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเครื่องสาย มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง
ประวัติ
     ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ มีสามสายเรียกว่า ซอ” ….” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกัน และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้ จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้านต่างๆ เช่น ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง อีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนต่างๆของซอสามสายมีชื่อเรียกดังนี้
1. ทวนบน เป็นส่วนบนสุดของคันซอ คว้านด้านในให้เป็นโพรงโดยตลอด ด้านบนสุดมีรูปร่างเป็นทรงเทริด ทวนบนนี้ เจาะรูด้านข้างสำหรับใส่ลูกบิด 3 ลูก ด้านหน้าตรงปลายทวนตอนล่าง เจาะรูสำหรับร้อยสายซอ ที่สอดออกมาจากรัดอก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อกซอ ทวนบนนี้ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับท่ออากาศ (Air column) ให้เสียงที่เกิดจากกะโหลกเป็นความถี่ของเสียง แล้วลอดผ่านออกมาทางทวนบนนี้ได้
2. ทวนล่าง คือส่วนของซอที่ต่อลงมาจากทวนบน ทำเป็นรูปทรงกระบอก และประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เช่นลงยาตะทอง ลงถมปัด ประดับมุก หรืออย่างอื่น เป็นการเพิ่มความวิจิตรงดงาม และเรียกทวนล่างนี้ว่า ทวนเงิน ทวนทอง ทวนมุก ทวนลงยา เป็นต้น ทวนล่างนี้สวมยึดไว้กับทวนบน และเป็นที่สำหรับผูก รัดอก เพื่อบังคับให้สายซอทั้ง 3 เส้นติดอยู่กับทวน นอกจากนั้นทวนล่าง ยังทำหน้าที่เป็นตำแหน่งสำหรับกดนิ้ว ลงบนสายในตำแหน่งต่างๆ
3. พรมบน คือส่วนที่ต่อจากทวนล่างลงมา ส่วนบนกลึงเป็นลูกแก้ว ส่วนตอนล่างทำเป็นรูปปากช้างเพื่อประกบกับกะโหลกซอ
4. พรมล่าง คือส่วนที่ต่อจากกะโหลกซอลงมาข้างล่าง ส่วนที่ประกบกับกะโหลกซอทำเป็นรูปปากช้าง เช่นเดียวกับส่วนล่างของพรมบน ตรงกลางของพรมล่างเจาะรูด้านบนเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ร้อยหนวดพราหมณ์ เพื่อคล้องกับสายซอทั้งสามสายและเหนี่ยวรั้งให้ตึง ตรงส่วนปลายสุดของพรมล่างกลึงเป็น เกลียวเจดีย์ และตอนปลายสุดเลี่ยมด้วย ทองคำ หรือ ทองเหลืองเป็นยอดแหลม เพื่อที่จะปักกับพื้นได้ สะดวกยิ่งขึ้น คันซอสามสายทั้ง 4 ท่อนนี้จะมีลักษณะกลวงตลอด ยกเว้นพรมล่างตอนที่เป็นเกลียวเจดีย์เท่านั้นที่เป็นส่วนที่ตัน เพราะต้องการ ความแข็งแรง ในขณะปักสีเวลาบรรเลง และคันซอทั้ง 4 ท่อนนี้ จะสวมไว้กับแกนที่สอดไว้กับ กะโหลกซอ
5. ถ่วงหน้า ถ่วงหน้าของซอสามสาย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ติดอยู่ตรงหน้าซอ เพื่อควบคุมความถี่ของเสียง ทำให้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น
6. หย่อง ทำด้วยไม้ไผ่ แกะให้เป็นลักษณะคู้ ปลายทั้งสองของหย่องคว้านเป็นเบ้าขนมครกเพื่อทำให้เสียง ที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังหน้าซอมีความกังวานมากยิ่งขึ้น
7. คันสี (คันชัก) คันสีของซอสามสาย ประกอบด้วยไม้และหางม้า คันสีนั้นเหลาเป็นรูปคันศร โดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงาม
เสียงของซอสามสาย
1. สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใฃ้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลา, ใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโด, ใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง) , ใช้นิ้วก้อยรูดที่สายจะเป็นเสียง มี (เสียงสูง)
2. สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มี, ใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟา, ใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล
3. สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โด, ใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร


สะล้อ
สะล้อ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้ สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้

ซอกันตรึม


ซอกันตรึม  เป็นเครื่องดนตรีของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรและชาวไทยอีสาน เป็นเครื่องสายใช้สี ทำด้วยไม้ กะโหลกซอขึงด้วยหนังงูหรือหนังจำพวกตะกวด มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ ใช้สายลวดมี 2 สาย คันชักอยู่ระหว่างสาย คันซอยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดอยู่ตอนนอกซอใช้รัด ด้วยเชือก ขนาดของซอแตกต่างกันไปตามความ ประสงค์ของผู้สร้าง โดยทั่วไปมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็กเรียก ตรัวจี้ ขนาดกลางเรียกตรัวเอก ขนาดใหญ่เรียกตรัว บางครั้งจะเห็นมีการดัดแปลงประยุกต์กะโหลกซอโดยใช้กระป๋องหรือปี๊บซึ่งอาจเรียกแทนว่า ซอกระป๋องหรือซอปี๊บได้


รือบับ

รือบับ (อังกฤษ: Rebab; อาหรับ: الرباب หรือ رباب) เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีการละเล่นกันตั้งแต่ในบริเวณสามจังหวัดชายแดนใต้ มาเลเซีย สุมาตราเหนือของประเทศอินโดนีเซีย และชวา ใช้ในการแสดง เมาะโย่งหรือมะโย่ง ซึ่งการละเล่นนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเป็นศิลปะละครรำในวัฒนธรรมหลวงหรือเป็นวัฒนธรรมราษฎร์ของคนถิ่นมลายู แต่ที่ปัตตานีปรากฏหลักฐานการละเล่นนี้ที่หนังสือ ฮิกายัดปัตตานีหรือ พงศาวดารปัตตานี ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 รือบับมีลักษณะโดยรวมคล้ายกับซอสามสายของภาคกลาง


จะเข้


จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อย
     ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.
เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย
สายของจะเข้
สายของจะเข้นั้นจะมีอยู่ 3 สาย ส่วนใหญ่ทำมาจากไหมหรือเอ็น สามารถแบ่งได้ดังนี้
 - สายที่อยู่ติดกับตัวผู้เล่นจะเข้ มีชื่อเรียกว่า สายลวด เป็นสายที่ทำมาจากลวดทองเหลือง
 - สายที่อยู่ทางด้านนอกสุดของจะเข้ มีชื่อเรียกว่า สายเอก ทำมาจากไหมหรือเอ็น
 - สายที่อยู่ตรงกลาง มีชื่อเรียกว่า สายทุ้ม ทำมาจากไหมหรือเอ็น
ครูจะเข้ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
    ดนตรีไทยนั้นมีการสืบทอดมา เป็นรุ่นสู่รุ่น และก็เช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่นๆ นั่นคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ จะเรียกว่า "คน" เครื่องดนตรีนั้นๆ เช่น สมชายเป็นคนซอด้วง ก็หมายความว่า นายสมชาย เป็นคนที่มีความถนัด หรือมีความเชี่ยวชาญในการเล่นเครื่องดนตรี ซอด้วงมากกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ซึ่งในสมชายอาจจะสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ เช่น เล่นซออู้, เล่นจะเข้ เป็นต้น ครูจะเข้ ก็ย่อมหมายถึง ครูที่เป็นคนจะเข้ คือเป็นผู้ที่มีความถนัด มีความรู้ความชำนาญในการเล่นจะเข้โดยเฉพาะ ซึ่งตั้งแต่อดีต อาจกล่าวย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 6 คือ "หลวงว่องจะเข้รับ" (โต กมลวาทิน)


กระจับปี่


กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ 4 สายชนิดหนึ่ง ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ 7 ซม. ด้านหน้ายาวประมาณ 44 ซม. กว้างประมาณ 40 ซม. ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ 138 ซม. ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัว กะโหลก จะมีความยาวประมาณ 180 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 4 อัน มีนมรับนิ้ว 11 นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียง
                ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่นต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับบรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก
กระจับปี่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจาก ภาษาชวา คำว่า กัจฉปิ ซึ่งคำว่า กัจฉปิ นั้นมีรากฐานของคำศัพท์ ในบาลีสันสกฤต คำว่า กัจฉปะ ที่แปลว่า เต่า เนื่องจากลักษณะของ กระจับปี่นั้น จะมีกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง ซึ่งมองแล้วคล้ายกับกระดองของเต่า จาก นิรัย พันแก่น และ ทับทิม สุกใส


ซึง


ซึง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มี 4 สาย แต่แบ่งออกเป็น 2 เส้น เส้นละ 2 สาย มีลักษณะคล้าย กระจับปี่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ 81 ซม. กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 21 ซม. ทั้งกะโหลกและคันทวนใช้ไม้เนื้อแข็งชิ้นเดียวคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง ตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้ว จำนวน 9 อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ 2 อัน รวมเป็น 4 อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย 4 สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก 2 สาย และ สายใหญ่ 2 สาย ซึงเป็นเครื่องดีดที่ชาวไทยทางภาคเหนือนิยมนำมาเล่นร่วมกับปี่ซอ หรือ ปี่จุ่ม และ สะล้อ
แบ่งตามลักษณะได้ 3 ประเภท คือ ซึงเล็ก ซึ่งกลาง และซึงหลวง (ซึงที่มีขนาดใหญ่)
แบ่งตามประเภทได้ 2 ชนิด คือ ซึงลูก 3 และซึงลูก 4 (แตกต่างกันที่เสียง ลูก 3 เสียงซอลจะอยู่ด้านล่าง ส่วนซึงลูก 4 เสียงซอลจะอยู่ด้านบน)
อธิบายคำว่า สะล้อ ซอ ซึง ที่มักจะพูดกันติดปาก ว่าเป็นเครื่องดนตรีของชาวล้านนา แต่ที่จริงแล้ว มีแค่ ซึง และสะล้อ เท่านั้นที่เป็นเครื่องดนตรีของชาวล้านนา ส่วนคำว่า ซอในที่นี้ หมายถึง การขับซอ ซึ่งเป็นการร้อง การบรรยาย พรรณณาเป็นเรื่องราว ประกอบกับวงปี่จุ่ม


พิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพียะ

พิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพียะ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองลานนาชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะของพิณเปี๊ยะมีคันทวนยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กรูปหัวช้าง ทองเหลือง สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลักตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง 2 สายและ 4 สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าว ก็ได้ เวลาดีด ใช้กะโหลกประกบติดกับหน้าอก ขยับเปิดปิดให้เกิดเสียงตามต้องการ เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้าของภาคกลาง ในสมัยก่อนชาวเหนือมักจะใช้พิณเปี๊ยะดีดคลอกับการขับลำนำในขณะที่ไปเที่ยวสาว พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก


 


ไหซอง

ไหซอง เป็นเครื่องดนตรีไทยภาคอีสาน ทำมาจากไหน้ำปลาหรือไหปลาร้าที่ไม่ใช้แล้ว ขึงด้วยยางหนังสติ๊กหรือยางอื่นๆ บริเวณปากไห จัดเป็นชุด ชุดละหลายใบ โดยมีขนาดลดหลั่นกัน บรรเลงโดยการดีดด้วยนิ้ว ให้เสียงทุ้มคล้ายกีตาร์เบส ทำหน้าที่เป็นเครื่องประกอบจังหวะ ใช้บรรเลงประกอบในวงดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานหรือที่นิยมเรียกว่าวงโปงลาง
ปัจจุบันวงโปงลางส่วนใหญ่นิยมใช้พิณเบส แทนการใช้ไหซอง เนื่องจากให้เสียงดังกว่าและสามารถบรรเลงพลิกแพลงได้มากกว่า จึงแทบไม่มีการดีดไหซองเพื่อการบรรเลงจริงๆแล้ว การดีดไหซองในปัจจุบันเป็นเพียงการแสดงลีลาการดีดประกอบท่าฟ้อนรำ นิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้ดีด เรียกว่า นางไห ใช้แสดงในงานรื่นเริงต่างๆ